ฤดูนี้มีพายุเข้ามา ทำให้ตัวเรามีปัญหากับหลายๆระบบจากความชื้นของอากาศ ช่วงต่อหน้าหนาวนั้นความเย็นกระทบร่างกายเราปรับตัวไม่ทันค่ะ มาดูแลสุขภาพแบบง่ายๆด้วย
ตำรับยาจากขิง
๑. ขิงแก้หวัดแก้ไอ
ใช้เหง้าขิงสดอายุ ๑๑-๑๒ เดือน ขนาดเท่าหัวแม่มือ หนักประมาณ ๕ กรัม ทุบให้แตก แล้วต้มเอาน้ำมาดื่ม
ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยก็อาจผสมน้ำผึ้งในน้ำขิง หรืออาจเหยาะเกลือลงในน้ำขิงเล็กน้อยหากมีอาการไอร่วมกับเสมหะ เกลือจะทำให้ระคายคอและขับเสมหะที่ติดในลำคอออกมา
จิบน้ำขิง บ่อยๆ แทนน้ำ รับรองอาการหวัดหายเป็นปลิดทิ้ง
๒.ขิงแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
และอาการจุก เสียดแน่น แก้ปวดท้อง
นำขิง ๓๐ กรัม ชงกับน้ำเดือด ๕๐๐ มิลลิลิตร
แช่ทิ้งไว้ ๑ ชั่วโมง ดื่มครั้งละ ๒ ช้อนโต๊ะ (๖๐ มิลลิลิตร)
๓. ขิงแก้ไอ
ใช้เหง้าสดประมาณ ๖๐ กรัม น้ำตาลทรายแดง ๓๐ กรัม ใส่น้ำ ๓ แก้ว นำไปต้มเคี่ยวให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบตอนอุ่นๆ
หรือใช้ฝนกับมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
ในกรณีที่ต้องการใช้ ขับเสมหะ คั้นน้ำขิงสดประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง ๓๐ กรัม อุ่นให้ ร้อนก่อนดื่ม
ส่วนในรายที่ไอเรื้อรัง ใช้น้ำผึ้งประมาณ ๕๐๐ กรัม น้ำคั้นจากเหง้าสดประมาณ ๑ ลิตรนำมาผสมกันแล้วเคี่ยวในกระทะทองเหลือง (ถ้าไม่มีอาจใช้กระทะสแตนเลสที่ทนกรดทนด่างได้ แต่ ไม่ควรใช้กระทะเหล็ก) จนน้ำระเหยไปหมดจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดลูกพุทราจีน ให้อมกินครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง
๔.ทาปวดข้อ
ใช้น้ำคั้นจากเหง้าสด ผสมกาวหนังวัว เคี่ยวให้ข้น นำไป พอกบริเวณที่ปวด
หรือใช้เหง้าสดย่างไปตำ ผสมน้ำมัน มะพร้าวใช้ทาบริเวณที่ปวด
๕. แก้คลื่นไส้ อาเจียน
ขิงสด ๓๐ กรัมสับให้ละเอียด ต้มดื่มขณะท้องว่าง
๖.แก้ปวดประจำเดือน
ขิงแห้ง ๓๐ กรัม น้ำตาลอ้อย
(หรือน้ำตาลทรายแดง) ๓๐ กรัม ต้มน้ำดื่ม
๗.เด็กเป็นหวัดเย็น
เอาขิงสดและรากฝอยต้นหอมตำรวมกัน เอาผ้าห่อคั้นเอา แต่น้ำทาที่คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าอก และหลังของเด็ก
๘. ผมร่วงหัวล้าน
ใช้เหง้าสด นำไปผิงไฟให้อุ่น ตำพอกบริเวณที่ผมร่วง วันละ ๒ ครั้ง สัก ๓ วัน
ถ้าเห็นว่า ดีขึ้นอาจจะใช้พอกต่อไปจน กว่าผมจะขึ้น
ข้อควรรู้-ข้อควรระวังของขิง
๑. หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในทางการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน
๒. การต้มน้ำขิงด้วยความร้อนจะทำให้สารสำคัญบางอย่างที่ออกฤทธิ์รักษาอาการปวดข้อสลายตัวไปได้
๓. ถ้าใช้น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากๆ แทนที่จะช่วยแก้อาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด จะมีฤทธิ์ตรงข้ามคือไประงับการบีบตัวของลำไส้จนอาจถึงกับหยุดบีบตัวไปเลย
๔. เคล็ดลับในการต้มน้ำขิงให้หอมอร่อย คือ ให้ใช้เวลาต้มสั้นๆ ไม่เกิน ๒-๕ นาที เพราะกลิ่นของขิงจะหายไปหมดหากตั้งไฟนาน
๕. คนที่เป็น' หวัดเย็น ' คือ รู้สึกหนาว มีไข้ต่ำ ไม่ค่อยมีเหงื่อ เสมหะเหลวใส ลองดื่มน้ำขิงต้มร้อนควันฉุย จะช่วยให้อาการดีขึ้น
๖. คนที่เป็น' หวัดร้อน ' คือ มีอาการปวดหัว ตัวร้อน เหงื่อออก คอแห้ง เจ็บคอ เสมหะเหนียวข้น สีออกเหลืองนั้น ขิงไม่เพียงช่วยไม่ได้ แต่ยังอาจทำให้อาการทรุดลงด้วย
๗. การกินให้ปลอดภัย ควรซื้อแบบเป็นแง่งจะดีกว่าแบบซอยมาให้แล้ว เพราะเสี่ยงกับการได้รับสารฟอกขาวจำพวกซัลไฟต์ แต่ถ้าจำเป็นให้เลือกซื้อ ขิงซอยที่มีสีขาวอมชมพูเล็กน้อย จะปลอดภัยกว่าสีขาวซีดหรือเหลืองจัด
๘. ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี ถ้าหากจะใช้ขิงจึงควรระมัดระวังในการใช้และอยู่ในความดูแลของแพทย์
๙. การใช้ขิงในขนาดสูง อาจเพิ่มฤทธิ์การรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ควรระมัดระวังการ กินขิง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
๑๐. การกินขิงในขนาดสูง อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากฤทธิ์การกดประสาทส่วนกลางของขิง
๑๑. ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร
โดย ทางแพทย์สายพุทธ
ข้อมูลอ้างอิง
๑. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมสมุนไพรไทย.
๒. วีรชัย มาศฉมาดล. ผัก อาหารก็เป็นยาได้.
๓. ธีระ ฤทธิรอด, ประภาวดี พัวไพโรจน์, ศุภชัย ติยวรนันท์. ยาสกัดจากขิงและข่า : ทางเลือกใหม่ของการรักษาข้อเข่าเสื่อม. วารสารคลินิก. ธันวาคม ๒๕๔๔.
|